วันพฤหัสบดี, 21 พฤศจิกายน 2567

สมาคมฯ ชี้แจงข้อสงสัย เรื่องการประมาณการงบประมาณ ของสมาคมประจำปี 2566

สมาคมฯ ชี้แจงข้อสงสัย เรื่องการประมาณการงบประมาณ ของสมาคมประจำปี 2566

ตามที่ปรากฏข่าวบนสื่อออนไลน์ กรณีเกี่ยวกับข้อสงสัย เรื่องการประมาณการงบประมาณที่คาดว่าต้องใช้ ของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2566 โดยเฉพาะงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับค่าสนับสนุนการแข่งขันทีมฟุตบอลทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี (ชาย) รวมทั้งเงินค่าบริหารสิทธิประโยชน์และรายได้ของผู้บริหารสิทธิประโยชน์ของสมาคมฯ

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอเรียนชี้แจงดังนี้ :

📌ประเด็นที่ 1 เรื่องการประมาณการงบประมาณของสมาคมที่คาดว่าต้องใช้

ในแต่ละปี สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จะต้องมีการประมาณการงบประมาณที่คาดว่าจะได้ทั้งรายรับ และรายจ่าย ซึ่งมีการเทียบเคียงและอ้างอิงจากรายได้ในปีก่อน บวกกับแผนงานกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในปีต่อไป ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับและใช้จ่ายเพิ่มขึ้นภายหลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อกิจกรรมการแข่งขันฟุตบอลในทุกๆ ระดับ ได้กลับมาแข่งขันได้ตามปกติแล้ว

ซึ่งที่มาของรายรับและรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นของประมาณ ในปี 2566 มีนัยสำคัญจากการที่สมาคมฯ ได้ทำสัญญากับสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) ในการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี รอบสุดท้าย ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนที่ต้องนำมาใช้จ่ายในการรับรองทีมที่จะเข้ามาแข่งขันรวมถึงเจ้าหน้าที่ทั้งหมด โรงแรม ที่พัก อาหาร รถรับส่ง สนามซ้อม สนามแข่ง การรักษาความปลอดภัย การแพทย์ การจัดการแข่งขัน ฯลฯ สำหรับการแข่งขันที่มี 16 ทีม เข้าร่วม และใช้ 4 สนามแข่งขัน กับ 10 สนามซ้อม

รวมถึง กลุ่มรายรับได้จากการสนับสนุนของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ จำเป็นต้องนำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ เท่านั้น ได้แก่ งบประมาณด้านสาธารณูปโภค ซึ่งการบริหารงานของสมาคมฯ ที่มีระเบียบการใช้ในหมวดหมู่ต่างๆ ที่จะต้องถูกตรวจสอบว่าได้นำไปใช้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่มอบให้หรือไม่และไม่สามารถนำไปใช้จ่ายอย่างอื่นได้

ดังนั้น การที่ประมาณการรายรับที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นไปตามภารกิจที่เพิ่มขึ้น และที่ต้องนำไปใช้จ่ายตามที่กำหนดไว้ และหากในปีต่อไป สมาคมฯ ไม่ได้จัดแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติในฐานะเจ้าภาพ การประมาณการก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงและลดลงตามลำดับ โดยประมาณการดังกล่าวนี้ และงบการเงินสโมสรสมาชิกที่มีสิทธิออกเสียงได้อนุมัติรับรองในที่ประชุมใหญ่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566

📌ประเด็นที่ 2 เรื่องเงินสนับสนุนการแข่งขันของ ทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี ชาย

สำหรับเงินในหมวดนี้ จะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ

2.1 ส่วนแรกเป็นเงินที่ได้รับการสนับสนุนมาจากเอเอฟซี ประมาณ 90 เปอร์เซนต์ เนื่องจาก ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพ จัดแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี รอบสุดท้าย จะมี 16 ชาติเข้าร่วมแข่งขัน และใช้ 4 สนาม ได้แก่ ราชมังคลากีฬาสถาน, ธรรมศาสตร์ สเตเดียม, ปทุมธานี สเตเดียม และ ชลบุรี สเตเดียม ในการจัดแข่งขัน ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2023 จึงได้รับเงินสนับสนุนจากเอเอฟซี จึงทำเป็นต้องใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของเอเอฟซีเท่านั้น เพื่อดำเนินการจัดการแข่งขันทั้งหมด เงินในส่วนนี้จึงถูกนำมารวมอยู่ในหมวดของ ทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี ในประมาณการรายจ่ายของปี 2566

2.1 ส่วนที่สอง ทีมชาติไทยชุดนี้ มี พิภพ อ่อนโม้ เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน ได้ดำเนินการเตรียมทีม เก็บตัวและอุ่นเครื่อง เพื่อให้ทีมชาติไทยมีความพร้อมมากที่สุดก่อนเข้าสู่รายการแข่งขัน มีการเดินทางไปเก็บตัวที่ประเทศญี่ปุ่น และแคมป์ภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี รอบสุดท้าย ทีมชาติไทย อยู่กลุ่ม A ร่วมกับ เยเมน,มาเลเซีย และ สปป.ลาว

ทั้งนี้ ประเทศไทย จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี รอบสุดท้าย ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2023 และใช้ 4 สนาม ได้แก่ ราชมังคลากีฬาสถาน, ธรรมศาสตร์ สเตเดียม, ปทุมธานี สเตเดียม และ ชลบุรี สเตเดียม

สำหรับ รายการดังกล่าว สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ เอเอฟซี จะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการจัดการแข่งขันให้กับ 16 ทีมที่เข้าร่วมแข่งขัน, ผู้ตัดสิน และเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันเอเอฟซี ตามระเบียบและเงื่อนไขของการจัดการแข่งขัน

กลุ่ม A – ไทย (เจ้าภาพ) ,เยเมน,มาเลเซีย, สปป.ลาว

กลุ่ม B – เกาหลีใต้,อิหร่าน,อัฟกานิสถาน,กาตาร์

กลุ่ม C – ทาจิกิสถาน,ออสเตรเลีย,ซาอุดีอาระเบีย,จีน

กลุ่ม D – ญี่ปุ่น,อินเดีย,เวียดนาม,อุซเบกิสถาน

โดยรายการนี้จะหา 4 ชาติที่ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศเป็นตัวแทนทวีปเอเชีย ไปแข่งขันฟุตบอลเยาวชนโลก U17 (โดยจะมีการหาเจ้าภาพอีกครั้ง)

📌ประเด็นที่ 3 เงินค่าบริหารสิทธิประโยชน์ที่คาดการณ์ว่าจะใช้จ่ายในปี 2566

ผู้บริหารสิทธิประโยชน์ให้แก่สมาคมฯ นั้น มีหน้าที่ดำเนินการเจรจา นำเสนอรูปแบบสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาสนับสนุน และติดตาม ประสานงานดูแล เพื่อให้แน่ใจว่าสมาคมฯ ได้ตอบแทนสิทธิประโยชน์กลับไปให้ผู้สนับสนุนครบถ้วน และสามารถรับงบประมาณการสนับสนุนตามข้อตกลง

โดยค่าใช้จ่ายในการบริหารสิทธินั้น เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ ที่ได้ตกลงกัน เช่น ค่าการบริหารจัดการด้านการตลาด ค่าบริหารการจัดแข่งขันและสนามแข่งขัน ค่าดูแลความปลอดภัยต่างๆ ในระหว่างแข่งขัน การจัดกิจกรรมสอนฟุตบอล งานแถลงข่าว พื้นที่แสดงป้ายกิจกรรม การประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ฯลฯ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของสมาคมฯ เช่นกัน

ส่วนประเด็นที่ปรากฏข่าวบนสื่อออนไลน์เกี่ยวกับเงินสนับสนุนสโมสร สมาคมฯ ขอเรียนว่า ตั้งแต่ช่วงโรคระบาดโควิด 19 เมื่อ 3 ปีก่อน ส่งผลกระทบต่อรายได้ค่าโฆษณาในการสนับสนุนการแข่งขันแต่ละระดับลีกลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อทั้งรายจ่ายที่เกี่ยวข้องตามวัตถุประสงค์ของการแข่งขันระดับลีก และการบริหารงานองค์รวมของสมาคมฯ อย่างมีสาระสำคัญ

ประกอบกับ ในสภาวการณ์ปัจจุบันนี้ที่งบประมาณมีจำกัดนี้ สมาคมฯ เข้าใจดีว่าทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบ สมาคมฯ ได้มีการปรับลดประมาณการค่าใช้จ่ายทั้งในด้านบุคลากร และออกมาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุดที่จะทำได้ โดยที่จะต้องไม่กระทบต่อการเข้าร่วมการแข่งขันของฟุตบอลทีมชาติไทย ฟุตซอล ฟุตบอลชายหาด ทุกชุด และการจัดแข่งขันฟุตบอลลีกภายในประเทศให้สำเร็จลุล่วง

อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ในการขับเคลื่อนฟุตบอลไทย ทุกๆ ภาคส่วนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นสโมสรสมาชิก ผู้สนับสนุน ผู้บริหารสิทธิ์ บุคลากรฟุตบอล ตลอดจนคนทำงาน ทุกๆ คน และควรได้รับการกล่าวถึงอย่างเป็นธรรม

ในการนี้ สมาคมฯ ต้องขอขอบคุณสโมสรสมาชิกที่คอยตรวจสอบการทำงาน แนะนำ ติชม โดยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สมาคมฯ ยินดีรับฟังข้อคิดเห็นจากสโมสรสมาชิกและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ฟุตบอลไทยมีการพัฒนาอยู่เสมอ ในทุกองค์ประกอบ

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

27 พฤษภาคม 2566